บีโอดี 20 มก./ล.

บีโอดี 20 มก./ล. ทำได้หรือไม่

ดร.มั่นสิน ตัณฑุลเวศม์

 1. ที่มาของเรื่อง

ในระยะหลัง มีข้อสงสัยว่า ระบบบำบัดแบบเอเอสสามารถผลิตน้ำทิ้งที่มีบีโอดี 20 มก./ล. ได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีคำถามต่อเนื่องไปว่าบีโอดี 20 มก./ล. ตามมาตรฐานน้ำทิ้งมีกำหนดไว้สูงเกินไปหรือเข้มงวดเกินไป

2. ความหมายและวิธีวัดบีโอดี

บีโอดี (BOD) หมายถึง สารอินทรีย์บางส่วนของน้ำเสียที่มีผลทำให้น้ำเน่าเหม็น วิธีวัดบีโอดีไม่ได้วัดปริมาณของสารอินทรีย์โดยตรง เช่น น้ำเสียมีบีโอดี 20 มก. ไม่ได้หมายความว่าน้ำเสียมีสารอินทรีย์ 20 มก. แต่วิธีวัดบีโอดีเป็นวิธีวัดปริมาณความต้องการออกซิเจนที่ใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย  บีโอดีจึงเป็นพารามิเตอร์ที่สท้อนถึงปริมาณสารอินทรีย์ ดังนั้นน้ำเสียที่มีบีโอดี 20 มก. หมายถึง ความต้องการออกซิเจน 20 มก. ในการย่อยสลายน้ำเสีย

วิธีการวัดบีโอดีของน้ำเสียทำได้โดยการสร้างสภาวะที่มีการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียและวัดปริมาณออกซิเจนที่ใช้ไปใน 5 วัน วิธีวัดแบบมาตรฐานกำหนดให้สร้างสภาวะย่อยสลายภายในขวด BOD ผู้ทดลองจะเติมเชื้อแบคทีเรียและเติมออกซิเจนให้เหลือเฟือลงในขวดบีโอดีพร้อมกับเติมน้ำเสียลงไปด้วย ขวดบีโอดีจึงเป็นภาชนะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียที่ใช้ออกซิเจน (Aerobic Bacteria) บ่มขวดนี้ไว้ในตู้ควบคุมอุณหภูมิ 20oซ เป็นเวลา 5 วัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเวลา 5 วัน คือ แบคทีเรียย่อยสลายสารอินทรีย์โดยใช้ออกซิเจนในการหายใจ ปริมาณสารอินทรีย์และปริมาณออกซิเจนจะน้อยลงทุกวัน ปริมาณออกซิเจนที่ใช้ไปภายใน 5 วันเป็นค่าบีโอดีของน้ำเสีย

ขอให้ตระหนักว่าขวดบีโอดีก็เป็นเหมือนถังเลี้ยงเชื้อของระบบบำบัดน้ำเสีย ค่าบีโอดีที่วัดได้สะท้อนถึงปริมาณสาร อินทรีย์ที่ย่อยสลายหมดไป

3. บีโอดี 20 มก./ล. ทำได้หรือไม่

เมื่อพิจารณาถึงหลักการวัดบีโอดีแล้ว ต้องตระหนักให้ได้ว่าบีโอดีของน้ำเสียสท้อนถึงปริมาณสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้โดยแบคทีเรียแบบใช้อากาศ เช่น บีโอดีของน้ำเสียวัดได้ 2,000 มก./ล. แสดงว่าความเข้มข้น 2,000 มก./ล. เป็นค่าที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

ระบบบำบัดน้ำเสียแบบชีวภาพ เช่น ระบบเอเอส ระบบ TF ระบบ RBC เป็นต้น ล้วนมีหลักการของวิธีวัดบีโอดี ดังนั้นทุกระบบข้างต้นย่อมสามารถกำจัดบีโอดีของน้ำเสียได้ 100% ตามทฤษฎี นั่นคือบีโอดี 20 มก./ล. (ของน้ำทิ้ง) ทำได้แน่ๆ

คำถามมีว่า บีโอดี 20 มก./ล. ในทางปฎิบัติทำได้หรือไม่ ผู้เขียนขอบอกว่าในทางปฏิบัติก็ทำได้ ระบบำบัดที่มีแบคทีเรียและออกซิเจนพอเพียงสามารถบำบัดน้ำเสียต่างๆ ให้มีบีโอดีต่ำกว่า 20 มก./ล. ได้เสมอ

This entry was posted in Uncategorized and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.